ก้าวอีกขั้น ! แพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง … CHULA
วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2562: 15.00 น.: ชั้น 6 อาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาฯ พร้อมด้วย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาฯ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้ากลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ กรรมการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันแถลงข่าว “ก้าวอีกขั้น ! แพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง” การแถลงความก้าวหน้าของงานวิจัยการรักษาโรคมะเร็ง ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
พร้อมทั้งเชิญชวนร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง การกุศล “CHULA CANCER RUN ก้าว…ทันมะเร็ง” เพื่อหารายได้สมทบทุน กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง จุฬาฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ศิษย์เก่าอย่างพี่ตูน จากมูลนิธิก้าวคนละก้าว มาร่วมวิ่ง 10.2 กม. กับทางโครงการด้วย ผู้สนใจสมัครกันได้ที่ https://race.thai.run/chulacancerrun นอกจากนี้จะมีกิจกรรม Virtual Run พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 จนไปถึงวันมะเร็งโลกในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปีหน้า เพื่อให้มีการออกกำลังกายต่อเนื่อง ติดตามได้ใน LINE : @chulacancerrun ซึ่งในงานแถลงข่าวครั้งนี้มี คุณเบลล์-ชายชาญ ใบมงคล และ คุณโด๋ว-มรกต โกมลบุตร มาร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปสู่ความเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ในระดับโลกที่สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นั้น มหาวิทยาลัยต้องกล้าที่จะตอบโจทย์ที่ยากและท้าทายอย่างมากของสังคม โดยอาศัยคนเก่งที่มีมากมายทุกศาสตร์มาร่วมคิดและร่วมทำโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่ท้าทายด้วยกัน อย่างมุ่งเป้า เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนงานที่ท้าทายเหล่านี้สามารถริเริ่มได้รวดเร็วทันการณ์ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทายาลัย ให้ใช้เงินจากรายได้ที่ได้จากการบริหารทรัพย์สินรายได้จากมาบุญครองตั้งเป็น “กองทุน ศตวรรษที่ 2 เพื่อการก้าวกระโดด ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในการสนับสนุนโครงการวิจัยขนาดใหญ่เพื่อตอบโจทย์ที่ท้าทายของสังคมอย่างจริงจังให้เกิดขึ้น โดย หวังว่าระยะยาวโครงการที่มีคุณภาพสูงเหล่านี้สามารถตอบโจทย์สังคมที่ท้าทายและยากมากได้อย่างแท้จริง และได้รับการสานต่อจากทางรัฐบาล และจากเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปในที่สุด ตัวอย่างของโครงการขนาดใหญ่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฉบับที่ 2 ได้แก่ โครงการ จุฬาอารี เป็นการวิจัยนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย (Chula ARi : Aging Research Innovation), โครงการ ออกแบบเพื่อสังคม (Chula D4S, Design for Society) และ โครงการ Cancer Cure เป็นต้น ซึ่งแต่ละโครงการ จะเป็นการทำงานร่วมกันจากคนเก่งข้ามศาสตร์จากหลายคณะ เพื่อสร้างผลผลิต และผลกระทบที่มีคุณภาพสูงได้อย่างแท้จริง
โครงการแพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง หรือ Cancer Cure เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญ ของกองทุนศตวรรษที่ 2 ที่ผนึกพลังจากหลายคณะและสถาบันทั้งในด้านแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ เพื่อร่วมกันทำวิจัย การพัฒนาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง เพื่อแก้ปัญหามะเร็งที่พบเพิ่มขึ้นในสังคมสูงวัย และ วัยต่างๆ นอกจากนี้ จากผลงานเบื้องต้นของโครงการนี้ได้นำไปสู่การสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชนและ สังคม ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ผลงานเชิงประจักษ์ต่างๆ เหล่านี้ จะมีออกมาเพื่อทำให้สังคมดีขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่องในอนาคตต่อไป นอกจากนี้โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ จะเป็นกลไกสำคัญ ในการผลิต คนเก่งคนดี นักวิจัย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ที่มี จิตใจ เพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และสามารถบรรลุตามเป้าหมายสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในที่สุด
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงความมุ่งมั่นของคณะแพทย์ และ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในการแก้ปัญหาโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการในการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยว่า ในปัจจุบันรพ.จุฬาลงกรณ์ ประสบกับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทางคณะแพทย์ และ รพ.จุฬาลงกรณ์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รักษามะเร็งด้วยโปรตอนแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้มีพิธีนำเครื่องไซโคลตรอนที่ใช้ผลิตโปรตอนเข้าศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไปเรียบร้อยแล้ว และจะเปิดบริการให้กับประชาชนได้ในเดือนกันยายน ปี 2563 นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ โครงการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และโครงการเซลล์บำบัดด้วยเซลล์นักฆ่าเพื่อรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่รักษายาก เป็นต้น และยังให้การสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันมะเร็งร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ให้ทำวิจัยทั้งในด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและการวิจัยทางคลินิกโดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การรักษาจริงที่ให้ชาวไทยทุกระดับเข้าถึงได้ตามพันธกิจของสภากาชาดไทยโดยเร็วที่สุด ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือการลงทุนสร้างและปรับปรุงห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษสำหรับการผลิตเซลล์เพื่อใช้ทางคลินิกที่ตึกภูมิสิริมังคลานุสรณ์ชั้น 8 ตามแบบและข้อกำหนดซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสำหรับการผลิตเซลล์เพื่อทำการวิจัยทางคลินิกและให้บริการภายในสถาบัน และทางศูนย์ฯ ได้เริ่มทำการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพของการผลิตเซลล์ตามมาตรฐานที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดเพื่อรองรับการรับรองมาตรฐาน Good Production Practice และ Good Manufacturing Practice ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมในการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทางคลินิกและภายนอกสถาบันต่อไปในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ยังมีแผนการขยายเพื่อให้มีการบริการได้เพียงพอ โดยมีการสร้างห้องปลอดเชื้อพิเศษ อีกทั้งเพื่อการผลิตเซลล์และวัคซีนเฉพาะบุคคลต่อมะเร็งเพิ่มเติมในตึกบูรณาการวิจัยใหม่ร่วมกับตึกรักษาพยาบาล ที่เน้นการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครบวงจร รวมกันเป็น “ศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” โดยคาดว่าจะเสร็จในปี 2566
รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคมะเร็งศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง เล่าว่า ในปัจจุบัน มีความก้าวหน้าของการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อย่างรวดเร็ว ยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และอีกหลายประเทศทั่วโลก เป็นแอนติบอดีที่ปลดล็อคสิ่งที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเอง ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านมะเร็งของผู้ป่วยกลับมาทำงานต่อสู้กับมะเร็งได้ ขณะนี้มีข้อบ่งชี้ในการรักษามะเร็งมากถึง 21 ชนิด โดยมีทั้งที่ให้เป็นการรักษาเป็นยาเดี่ยวหรือให้ร่วมกับยาหรือการรักษาอื่นๆ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ทำให้มีผลเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งหลายชนิดได้ยาวนานขึ้นลดการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งบางชนิด นอกจากยาที่ปลดล็อคระบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ยังมีความพยายามพัฒนานวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยการใช้วัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อบำบัดมะเร็งอีกด้วย โดยออกแบบและสร้างวัคซีนที่จำเพาะกับโปรตีนของเซลล์มะเร็ง แล้วนำมาให้ผู้ป่วยมะเร็งเพื่อให้ผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานมะเร็งต่อโปรตีนแปลกปลอมบนเซลล์มะเร็ง ทำให้มีการทำลายเซลล์มะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยคล้ายกับการต่อสู้เชื้อโรคสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายผู้ป่วยโรคติดเชื้อ สำหรับงานวิจัยของเรามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวัคซีนเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งแต่ละราย ให้เหมาะสมกับความหลากหลายของมะเร็งในแต่ละบุคคล และมีแผนที่จะพัฒนาไปใช้ร่วมกับยาแอนติบอดีที่ปลดล็อคการต่อต้านระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็ง โดยมีขั้นตอนการทำงาน หลักๆ 3 ขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นที่ 1 : นำเนื้อเยื่อมะเร็งจากผู้ป่วยแต่ละรายมาตรวจหาโปรตีนของเซลล์มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ เพื่อหาโปรตีนที่เป็นเป้าหมายเฉพาะของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละราย
- ขั้นที่ 2 : ผลิตวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนที่เป็นเป้าหมาย “เฉพาะบุคคล” เพื่อให้มีผล ในการรักษาเฉพาะผู้ป่วยรายนั้นๆ อย่างเหมาะสมที่สุด
- ขั้นที่ 3 : นำวัคซีนฉีดกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย และติดตามผลการรักษามะเร็ง
ในปีที่ผ่านมาเราได้ทำวิจัยขั้นตอนที่ 1 และ 2 ได้สำเร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาจากคณะ กรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเริ่มวิจัยทางคลินิกในขั้นตอนที่ 3 ตามข้อกำหนดในการใช้วัคซีน
อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง กล่าวถึงภารกิจของกลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัด (Cancer Cellular Immunotherapy) โดยพันธกิจของศูนย์ฯ มุ่งเน้นไปยังงานวิจัย 2 เรื่อง คือ
- การพัฒนา NK cell (Natural Killer cell หรือ เซลล์นักฆ่า ในระหว่างปี 2561-2562 ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความปลอดภัยของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยส์ที่ความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคแก่ผู้ป่วยจำนวน 10 ราย จากการดำเนินโครงการ นำร่อง ทางศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จในการผลิตเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคให้มีจำนวน คุณภาพและ
ความปลอดภัย ผ่านเกณท์มาตรฐานของการใช้เซลล์ทางคลินิกภายในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษสำหรับการผลิตเซลล์เพื่อใช้ทางคลินิก และยังพบว่าการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูงและมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยผู้ป่วยรายแรกที่เข้าร่วมโครงการนั้นมีระยะปลอดโรคนานถึง 18 เดือนแล้วหลังจากได้รับเซลล์นักฆ่า โดยทางศูนย์มีความมุ่งหวังจะดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 และ 2 ต่อไปในปี 2563 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาดังกล่าวแก่ผู้ป่วยกลุ่มที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต - ทางศูนย์ฯ ได้เริ่มพัฒนา การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลิมฟอยส์ด้วย Chimeric Antigen Receptor T cell ร่วมกับ มหาวิทยาลัย Nagoya ประเทศญี่ปุ่น โดย Chimeric Antigen Receptor T cell นี้คือเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีความจำเพาะต่อมะเร็ง ซึ่งทำให้สามารถควบคุมมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมฟอยส์ที่กลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานได้สูงถึง 80-90% การรักษาดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 10-15 ล้านบาท ศูนย์ฯ จึงได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Nagoya ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาผลิต Chimeric Antigen Receptor T cell ที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ต้นทุนการผลิตต่ำเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาดังกล่าวแก่ผู้ป่วยชาวไทย ซึ่งการทดสอบในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่าเซลล์ที่ผลิตด้วยวิธีใหม่นี้มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมีความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ทางศูนย์ฯ มีความมุ่งหวังจะเริ่มต้นดำเนินการวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 แก่ผู้ป่วยจำนวน 12 รายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ซึ่งในปัจจุบันโครงการวิจัยดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ฯ
อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้ากลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงความก้าวหน้าในการพัฒนายาแอนติบอดีเพื่อทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและกลับมากำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามธรรมชาติ ในราคาที่เข้าถึงได้มากที่สุดสำหรับคนไทยว่ากระบวนการพัฒนายาแอนติบอดีนั้นมีความซับซ้อน ต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมด แบ่งได้ 5 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 : การผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบจากหนู ทำการผลิต เลือก และทดสอบยาต้นแบบ จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของหนูมากกว่าหนึ่งแสนแบบ ซึ่งในขั้นตอนนี้ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 ซึ่งทางศูนย์ฯ ทำสำเร็จได้ยาต้นแบบตัวแรกที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงยาในท้องตลาดจากต่างประเทศ
- ระยะที่ 2 : ปรับปรุงแอนติบอดีต้นแบบจากหนูให้คล้ายกับโปรตีนของมนุษย์มากที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งปัจจุบันงานวิจัย ของกลุ่มอยู่ในระยะที่ 2 นี้ และมีความคืบหน้าไปแล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์
- ระยะที่ 3 : เมื่อได้ยาต้นแบบที่ปรับปรุงแล้ว จึงทำการผลิตยาจากโรงงานในปริมาณมากให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยสูงสุดเพื่อนำไปใช้ทดสอบในระยะต่อไป ขั้นตอนนี้ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ระยะเวลา 24 เดือน
- ระยะที่ 4 : ทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะทดสอบ ในมนุษย์ต่อไป คาดว่าจะใช้งบประมาณ 100-200 ล้านบาท และระยะเวลา 24 เดือน
- ระยะที่ 5 : การทดสอบในมนุษย์ เป็นการทดสอบตัวยาในผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการทดสอบต่าง ๆ อาทิ ปริมาณการให้ยา ประสิทธิภาพการรักษา ผลข้างเคียง เป็นต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1000 ล้านบาท และระยะเวลา 48 – 60 เดือน
ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวปิดท้ายว่าถึงแม้ว่างานวิจัย จากทั้ง 3 พันธกิจของศูนย์จะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และได้รับความสนับสนุนจากหลากหลายหน่วยงานและประชาชนโดยทั่วไป แต่การศึกษาและวิจัย ยังต้องใช้เวลาและเงินทุนในการทำงานวิจัยในขั้นต่อๆ ไปอีกเป็นจำนวนมาก จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งทุนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้เกิดความสำเร็จต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งเพื่อระดมทุนสนับสนุนและเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ล่าสุดที่อยากจะฝากประชาสัมพันธ์คือ “กิจกรรมงานวิ่งการกุศล “Chula Cancer Run ก้าว…ทันมะเร็ง” ที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดให้มีการวิ่ง 3 ระยะทาง ได้แก่ 2.2 กม. 5.2 กม. และ 10.2 กม. ซึ่งเราอยากให้ทุกคนมีสุขภาพดี และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตนเองเพื่อห่างไกลโรคมะเร็ง งานนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ศิษย์เก่าอย่างพี่ตูน จากมูลนิธิก้าวคนละก้าวมาร่วมวิ่ง 10.2 กม.กับเราด้วย ผู้สนใจสมัครกันได้ที่ https://race.thai.run/chulacancerrun นอกจากนี้จะมีกิจกรรม Virtual Run พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 จนไปถึงวันมะเร็งโลกในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปีหน้า เพื่อให้มีการออกกำลังกายต่อเนื่อง ติดตามได้ใน LINE : @chulacancerrun หรือสำหรับผู้ที่ต้องการจะร่วมบริจาคเพื่อการวิจัยสามารถบริจาค เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) เลขที่ 045-304669-7 (กระแสรายวัน) ผู้ที่ต้องการใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษี ขอให้กรอกข้อมูลขอใบเสร็จมาทาง online https://canceriec.md.chula.ac.th/donation/
กลับไปหน้าข่าวประชาสัมพันธ์