จุฬาฯ เผยความคืบหน้าวัคซีน Covid-19 นวัตกรรมเพื่อคนไทย ได้ใช้จริงปีหน้า
วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564: 10.00 น.: ห้องประชุม 202 ชั้น อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงานเสวนา Chula The Impact ครั้งที่ 5 เรื่อง “ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก” โดยมี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นผู้ร่วมเสวนาและนำเสนอถึงความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ วัคซีน ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืชชนิดแรกของไทย โดยมี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงาน และ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในโอกาสนี้ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งได้ดำเนินการทดสอบในอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดีในระยะ 1-2 เรียบร้อยแล้ว พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดีมาก ผลข้างเคียงอยู่ในขั้นเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดเมื่อยบริเวณที่ฉีด เพลีย ไข้ แต่อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ขณะนี้กำลังเตรียมการทดสอบในอาสาสมัครในระยะที่ 3 ต่อไป โดยจะเปิดรับอาสาสมัครในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 จากนั้นจะทดสอบ และเสร็จสิ้นประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ควบคู่ไปกับการวิจัยศึกษาวัคซีนเข็มกระตุ้น และการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุน้อย สำหรับเรื่องของงบประมาณ จำนวน 2,300 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งมอบอำนาจให้ทางคณะแพทยศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริหารนั้น ยืนยันว่าจะนำไปจัดสรรใช้อย่างเหมาะสม ทั้งในเรื่องของการพัฒนาวัคซีน การวิจัยในอาสาสมัคร รวมทั้งวัตถุดิบ และการผลิตหลังขึ้นทะเบียนกับ อย. โดยคาดว่าจะสามารถขออนุมัติใช้ได้เร็วที่สุดคือช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน พ.ศ. 2565
จุดเด่นวัคซีน ChulaCov19 คือเรื่องของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพมาก และสามารถป้องกันเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้งใน B Cells และ T Cells โดยเฉพาะใน T Cells ที่สูงกว่า Pfizer ถึง 2 เท่า หลังฉีดโดสที่ 2 ใน 7 วัน ซึ่งต้องรอพิสูจนือีกครั้งในการทดสอบระยะที่ 3 ต่อไป รวมถึงการออกแบบตัวเนื้อวัคซีนที่ต่างจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ไม่ติดในเรื่องของสิทธิบัตร ส่วนตัวห่อหุ้มที่ซื้อสิทธิบัตรมาใช้ก็เป็นเทคโนโลยีล่าสุด และวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่นเป็นอย่างมาก
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เผยถึงความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบสปีชีส์ “N. benthamiana” ซึ่งใช้ระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืชในใบยาสูบ ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าวสำเร็จเรียบร้อยแล้ว มีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน ส่วนวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครช่วงอายุ 18-60 ปี จำนวน 96 ราย ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังอยู่ในช่วงการติดตามผลทั้งเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพ (50 วัน) เบื้องต้นยังไม่พบผลข้างเคียงที่น่ากังวล แต่เรื่องของประสิทธิภาพยังต้องรอข้อมูล สำหรับการทดสอบในเฟสที่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ (61-75 ปี) ก็เริ่มมีการรับอาสาสมัครแล้วแต่ยังได้อาสาสมัครไม่ครบ เนื่องจากผู้สูงวัยใน กทม. ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเกือบครบแล้ว ทั้งนี้การทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยามี ศ.นพ.เกียรติ ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งปัจจุบันวัคซีนรุ่นที่สองก็ได้รับการพัฒนาขึ้นแล้ว และมีการทดสอบในอาสาสมัครเฟสแรกในช่วงเดือนมกราคม 2565 เพื่อคัดเลือกวัคซีนตัวที่ดีที่สุดไปทดสอบในเฟสที่ 2 ต่อไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
สำหรับจุดเด่นของวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา คือเป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มและองค์ความรู้ที่สามารถปรับเปลี่ยน และผลิตได้หลากหลายทั้งวัคซีนและยารักษาโรคต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในทางการแพทย์ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน และพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 คาดว่าจะสามารถขออนุมัติให้ใช้ได้ อย่างเร็วที่สุดในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี 2565
สามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity/videos/440958164330925
กลับไปหน้าข่าวประชาสัมพันธ์