+66 2256 4183, +66 2256 4462
prmdcu@gmail.com

MDCU

27 ธ.ค. 2021

นิสิตแพทย์จุฬาฯ คว้าเหรียญเงินจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในประเทศ ประจำปี 2564

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564: 14.00 น.: บูธ G ฮอลล์ 103-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพฯ

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นางวันทนีย์ พันธชาติ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ร่วมกันมอบรางวัลเหรียญเงิน และใบประกาศนียบัตร ให้แก่ นายธัชชัย ศรีมุนินทร์นิมิต นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในประเทศ ประจำปี 2564 จากผลงานชื่อว่า “SightBand” โดยมี รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งนิสิตแพทย์จุฬาฯ จะเป็นผู้แทนไปเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ Global Student Innovation Challenge (gSIC) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 26-29 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน

“SightBand” เป็นอุปกรณ์ช่วยการมองเห็นแบบแถบคาดศีรษะสำหรับผู้สูงอายุที่สูญเสียการมองเห็น ได้รับการออกแบบโดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น SightBand ช่วยให้ผู้ใช้รับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวพวกเขาในด้านการรับรู้ที่กว้างพร้อมๆ กัน

ส่วนประกอบหลักของ SightBand แบ่งเป็น…

  1. ส่วนประกอบการรับรู้สภาพแวดล้อมสำหรับการทำแผนที่เชิงพื้นที่
  2. ส่วนประกอบเชื่อมต่อกับผู้ใช้ ด้วยการส่งข้อมูลเชิงพื้นที่แบบง่ายของสภาพแวดล้อมไปยังผู้ใช้

SightBand มีคุณสมบัติรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ สามารถปรับแต่งช่วงการรับรู้ การนำทาง และการระบุวัตถุ ผู้พัฒนาได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางสายตามักจะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ อุปกรณ์จึงติดตั้งคุณสมบัติด้านความปลอดภัยเพื่อช่วยให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงอันตรายและอยู่ในการเข้าถึงของหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินเสมอ ด้วยการรับรู้ถึงสิ่งรอบข้างมากขึ้น SightBand จึงช่วยให้ผู้ใช้ทำกิจกรรมประจำวันได้สะดวก และทำให้พวกเขาพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

นอกจากนี้ รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ร่วมแสดงความยินดีในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ทีมนิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ส่งผลงานเข้าประกวดชื่อว่า D Mind: Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression โครงการพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยเสียงหรือข้อความ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว โดยจะได้ไปร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ Global Student Innovation Challenge (gSIC) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เช่นกัน

 

กลับไปหน้าข่าวประชาสัมพันธ์
X