ทีมนักวิจัยจุฬาฯ ศึกษาค้นพบสารสกัดจากสมุนไพรไทยรักษาโรคโควิด-19
วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564: 13.30 น.: อาคารวิทยพัฒนา ชั้น 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านสื่อสารองค์กร บริหารแบรนด์ และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดการเสวนาออนไลน์ ผ่านทาง Facebook Live CHULA the Impact ครั้งที่ 3 เรื่อง “นวัตกรรมยาสมุนไพรรักษาโควิด-19” โดยมี รศ.ดร.พญ.ศิวะพร บุณยทรัพยากร อาจารย์ประจำหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย ศ.ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ อ.ดร.กิตติคุณ วังกานนท์ และ ผศ.ดร.ธัญญดา รุ่งโรจน์มงคล อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากร และ อ.ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีและจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยกลุ่มภารกิจสังคมสัมพันธ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ได้จัดขึ้นเพื่อให้วิทยากรได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอผลงานในประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของการวิจัยพืชสมุนไพรไทย และนวัตกรรมจากจุฬาฯ เพื่อค้นหายาที่สามารถนำมารักษาโรคโควิด-19 ในอนาคต
รศ.ดร.พญ.ศิวะพร บุณยทรัพยากร กล่าวว่า การรักษาโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน มุ่งเน้นการรักษาตามความเหมาะสมกับอาการของคนไข้ โดยแนะนำพิจารณาให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง ตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรงภายใน 4 วันแรก กรณีอาการรุนแรงแนะนำยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เนื่องจากช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ต้องระมัดระวังภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ทางด้าน ผศ.ดร.ธัญญดา รุ่งโรจน์มงคล เผยว่า ยาจากสมุนไพรมีความพิเศษคือ สารเคมีจากสมุนไพรมีโครงสร้างซับซ้อน และมีโอกาสพัฒนาเป็นยาได้มากกว่าโครงสร้างทั่วไป โดยทีมนักวิจัยจุฬาฯ ได้มีการวิจัยปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความความเป็นพิษ เพิ่มความคงตัวจนสามารถใช้เป็นยาได้ โดยมีการสังเคราะห์สารประกอบ ดัดแปลงโครงสร้างเคมี ทดสอบประสิทธิภาพกับโปรตีนเป้าหมายด้วยคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้ง ทดสอบในหลอดทดลอง และทดสอบกับไวรัสจริง (ในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง) จากการวิจัยทำให้ค้นพบสารที่เป็น Candidate ที่น่าสนใจอยู่หลายชนิด ทั้งสารที่มาจากยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่เดิม และสารจากสมุนไพรไทยมากกว่า 60 ชนิด ตัวที่น่าสนใจที่สุดที่ทีมนักวิจัยจุฬาฯ ค้นพบในขณะนี้คือ รูติน (Rutin) ซึ่งเป็นสารไบโอฟลาโวนอยด์ที่พบในผิวเปลือกส้ม
อ.ดร.กิตติคุณ วังกานนท์ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยของจุฬาฯ ให้ความสนใจศึกษาเอนไซม์ย่อยโปรตีน หรือโปรตีเอสของเชื้อก่อโรคโควิด-19 เป็นหลัก ซึ่งเชื้อโควิด-19 ต้องการโปรตีเอสในวัฏจักรชีวิต ยาที่ยับยั้งการทำงานของโปรตีเอสอาจเป็นหนทางในการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ควบคู่ไปกับวัคซีน โดยความรู้ก่อนหน้าจาก SARS และ MERS บ่งชี้ว่าโปรตีเอสเป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนายาที่ดี ห้องปฏิบัติการของเราสามารถทดสอบการยับยั้งโปรตีเอสของยาที่มีใช้อยู่แล้วและสารสกัดสมุนไพรหลายชนิด นอกจากนั้นเรายังสามารถหาโครงสร้างสามมิติของโปรตีเอสได้ ซึ่งจะทำให้เราทราบถึงกลไกการทำงานในระดับโมเลกุลและสามารถพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่อไป โดยภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย ที่สามารถศึกษาโครงสร้างของโปรตีเอสของเชื้อโควิด-19 ที่สังเคราะห์ขึ้นมาได้ในระดับโมเลกุล
ด้าน ศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีสมุนไพรที่น่าสนใจหลายชนิด ประกอบกับมีภูมิปัญญาไทยดั้งเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการค้นพบยาที่ช่วยบรรเทาอาการ หรือรักษาโรคโควิด-19 เพื่อลดเวลาในขั้นตอนค้นพบยาให้สั้นลง และให้ทันต่อโรคอุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำที่เกิดขึ้น จึงต้องใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมาช่วยเร่งกระบวนการ โดยทีมนักวิจัยจุฬาฯ ได้ผนึกกำลังกันตั้งแต่การเลือกชนิดของสมุนไพร การสกัดให้ได้สารสำคัญ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารสำคัญให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มีการคัดกรองเป้าหมายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ การทดสอบในสัตว์ทดลอง และการทดสอบในมนุษย์ ตั้งตำรับยาที่เหมาะสม และขึ้นทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด จะเห็นว่าขั้นตอนการพัฒนายาจากสมุนไพรไม่ได้ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้ยาที่ผลิตออกมามีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
กลับไปหน้าข่าวประชาสัมพันธ์