+66 2256 4183, +66 2256 4462
prmdcu@gmail.com

MDCU

23 ม.ค. 2023

CHULA the Impact ครั้งที่ 14 เรื่อง “บ่งชี้ความเสี่ยงสมองเสื่อม ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด”

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2566: 10.00 น.: ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเปิดการเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 14 เรื่อง “บ่งชี้ความเสี่ยงสมองเสื่อมด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด” โดยมี อ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก ประจำคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง (Advance hearing and balance clinic) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นวิทยากรร่วมการเสวนา และ ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

“ภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์” มีอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย วิทยาการความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และนวัตกรรม ด้วยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Royal Academy of Engineering ประเทศอังกฤษ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนา Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด ทำให้สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือไม่ ช่วยให้เราสามารถป้องกันและชะลอโรคนี้ได้ในอนาคต

การพัฒนา Application ตรวจการได้ยินด้วยคำพูด มีที่มาจากโครงการ Thai Speech Acoustic Virtual Reality (Thai-SAVR) test for the detection of early dementia โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับ University College London ประเทศอังกฤษ ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก Royal Academy of Engineering ประเทศอังกฤษ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่านโครงการ Tranforming System through Partnership ในการพัฒนาการตรวจการได้ยินด้วยคำพูดภาษาไทย เพื่อดูการแปลผลของสมองด้านภาษา ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่าในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้าผู้นั้นจะมีโอกาสมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ได้มีการนำองค์ความรู้จากประเทศอังกฤษมาสร้างห้องแลปไร้เสียงสะท้อนที่จำลองสภาพเหมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆ ด้วยคำพูดภาษาไทยเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อใช้ทดสอบการได้ยินและความสามารถในการประมวลผลเสียงพูดในระดับสมอง

ความร่วมมือในโครงการนี้ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก Royal Academy of Engineering ประเทศอังกฤษ และ สวทช. มุ่งหวังให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น Hub ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องการตรวจการได้ยินด้วยคำพูดเพื่อดูการแปลผลของสมองด้านภาษา ทั้งนี้ยังได้มีการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันสำหรับประชาชนทั่วไปสามารถใช้งานได้ผ่าน Mobile Application ทั้ง IOS และ Android เพื่อใช้ตรวจ การได้ยินและความสามารถในการจับใจความจากจากคำพูดและประโยคที่เป็นภาษาไทย ในชื่อว่า “Eartest by Eartone”

 

กลับไปหน้าข่าวประชาสัมพันธ์
X