+66 2256 4183, +66 2256 4462
prmdcu@gmail.com

MDCU

27 ก.ค. 2021

บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ร่วมสนับสนุนการจัดเก็บดูแลรักษาและขนส่ง วัคซีน ChulaCov19

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564: 14.00 น.: ห้องประชุม 603 ชั้น 6 สำนักงานคณบดี อาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมปรึกษาหารือและรับมอบการสนับสนุนการจัดเก็บดูแลรักษาและขนส่ง วัคซีน ChulaCov19 จาก น.ส.พักตร์นลิน บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการที่ครอบคลุมด้านการขนส่งและกระจายสินค้าทางเวชกรรมสำหรับโครงการวิจัยยาชั้นนำในประเทศไทย โดยจะให้การสนับสนุนโครงการวิจัยวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ทาง ศูนย์วิจัยวัคซีน (Chula VRC) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มดำเนินการทดลอง วัคซีน ChulaCov19 mRNA ทางคลินิกระยะที่ 1 ในอาสาสมัคร 36 คน อายุ 18 ถึง 55 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยระยะ 1 นี้ เป็นการประเมินความปลอดภัยและศึกษาหาขนาดยาที่เหมาะสม เพื่อทำการศึกษาต่อในกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองในระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการทดลองได้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 นี้

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ กล่าวว่า ขอขอบคุณ บริษัทซิลลิค ฟาร์มา ไทยแลนด์ เป็นอย่างยิ่งสำหรับการจัดเก็บวัคซีน ด้วยคุณภาพสูงและสนับสนุนการบริการทางด้านโลจิสติกส์ให้กับโครงการวัคซีน ChulaCov19 mRNA ให้อย่างมืออาชีพ เราหวังว่าวัคซีน mRNA ที่ผลิตเองในประเทศของเรา หากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จะสามารถผลิตและจัดหาให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเปิดตัววัคซีนได้ภายในปีหน้า

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม เสริมว่า การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ได้รับการสนับสนุนอย่างมืออาชีพจากซิลลิก ฟาร์มา สิ่งที่สำคัญคือการดำเนินงานจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกอย่างเคร่งครัด และต้องได้รับการจัดการอย่างพิเศษเพื่อรักษาอุณหภูมิให้ต่ำอยู่ในระดับ -70 องศาเซลเซียส ตั้งแต่สินค้าเข้ามาภายในคลังสินค้า รวมถึงเข้าจัดเก็บในตู้รักษาความเย็นที่มีความปลอดภัยและถูกควบคุมอุณหภูมิเป็นพิเศษ จนถึงการขนส่ง ไปยังสถานพยาบาลทางคลินิก

ทางด้าน น.ส.พักตร์นลิน บูลกุล กล่าวว่า เรารู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCOV19 ในการให้บริการที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในภาพรวม ซึ่งทางเราได้ปฏิบัติตามพันธกิจของบริษัทซิลลิค ฟาร์มา ในการทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาและการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น บริษัทซิลลิค ฟาร์มา ผู้ให้บริการคลังสินค้าระบบความเย็นด้านการดูแลสุขภาพที่ใหญ่ที่สุด โดยให้บริการด้านการขนส่งภายในประเทศด้วยระบบจัดการที่ตอบโจทย์อย่างรอบด้านและเฉพาะทางที่ดีที่สุดในกลุ่มตลาดเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถให้บริการระบบจัดการสินค้าที่มีอุณหภูมิต่ำและจำเป็นต้องจัดเก็บและขนส่งวัคซีนโควิด19 ที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำถึง -70 องศาเซลเซียส เนื่องจากเราเข้าใจและทราบดีว่าวัคซีนแต่ละชนิดมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป ทางบริษัทถึงสามารถออกแบบการให้บริการและวัสดุบรรจุภัณฑ์เฉพาะทางสำหรับการกระจายวัคซีนและการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกได้อย่างครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้นเรายังให้ความสำคัญในเรื่องของความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญผสมผสานกับความเชี่ยวชาญด้านระบบความเย็นในตลาดของเราทำให้สามารถจัดการกับความท้าทายครั้งนี้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

S__130138125

กลับไปหน้าข่าวประชาสัมพันธ์

X