นิสิตแพทย์จุฬาฯ ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2566
วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566: 13.30 น.: ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ศ.กิตติคุณ นพ.สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันแถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติ และได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนฯ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน คือ นสพ.พีณประภา ตั้งประดับเกียรติ และ นสพ.สุวินัย จิระบุญศรี นิสิตชั้นปีที่ 6 พร้อมด้วย นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 คน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณาคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา
นสพ.พีณประภา ตั้งประดับเกียรติ นิสิตชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2566 มีความสนใจในเรื่องการพัฒนาแบบแผนคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างเป็นลำดับขั้นตอน (sequential screening) ผ่านการพัฒนาเครื่องมือใหม่ 2 ชนิด คือ ระบบคะแนนประเมินความเสี่ยง (risk scoring algorithm) จากฐานข้อมูลของประชากรไทย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง และการกลืนกล้องแคปซูลตรวจพยาธิสภาพในลำไส้ใหญ่ (colon capsule endoscopy) โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียม (deep learning) ในการอ่านผล เพื่อแก้ปัญหาความร่วมมือ และความขาดแคลนของทรัพยากร โดยคาดหวังว่าแบบแผนที่พัฒนาขึ้นจะช่วยลดความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิต ตลอดจนทำให้การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยและประชาคมโลกมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นไป
ทางด้าน นสพ.สุวินัย จิระบุญศรี นิสิตชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2566 มีความสนใจในเรื่องกลไกการเกิดโรคมะเร็งโดยการใช้เทคโนโลยีอวัยวะจำลอง (Organoid) ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงเซลล์ให้มีลักษณะคล้ายกับในร่างกายมนุษย์ จึงมีความแม่นยำสูงในการจำลองและศึกษากระบวนการเกิดโรค องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจะเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดนโยบาย และการวิจัยต่อยอดเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อันจะมีผลในการพัฒนาสาธารณสุขและสุขภาพคนไทยต่อไป โดยปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผลกระทบกับชาวไทยทุกคน โดยมลภาวะชนิดนี้ได้รับการพิสูจน์ในเชิงประจักษ์แล้วว่าสามารถทำให้เกิดมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้ เช่น มะเร็งปอด และมีผลการศึกษาในเชิงระบาดวิทยาว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีข้อมูลความสัมพันธ์ที่ชัดเจนในกลุ่มคนไทย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาในเชิงประจักษ์ถึงกลไกการก่อโรคของฝุ่น PM 2.5 ในมะเร็งลำไส้ใหญ่
โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพแพทย์ให้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย
ในโอกาสนี้ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต และผศ.นพ.เสกข์ แทนประเสริฐสุข ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความยินดี
กลับไปหน้าข่าวประชาสัมพันธ์